มองผิวเผินอาจจะเหมือนดูคล้าย แต่ถ้าได้มาเจาะลึกกันจริงๆ แล้วล่ะก็ทั้ง Brand Ambassador และ Presenter มีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกันทั้งในด้านการรับรู้จากฝั่งของผู้บริโภค และทางแบรนด์สินค้าเองก็เช่นกัน เราไปทำความรู้จักบทบาท และความหมายที่แท้จริงของทั้งสองคำนิยามนี้กัน
ส่วนมากเราจะได้เห็นว่าผู้ถูกเลือกให้ได้รับบทบาทหน้าที่ทั้งการเป็น Brand Ambassador และ Presenter ของแบรนด์สินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วคือนักแสดง นักร้อง เจ้าของแบรนด์ หรือผู้มีชื่อเสียงอยู่ในกระแสการพูดถึง ที่สำคัญสามารถเรียกความสนใจคนหมู่มาก หยิบจับอะไรใครก็อยากสอยตามได้
แล้วอะไรคือความแตกต่าง
Brand Ambassador (แบรนด์แอมบาสเดอร์)
คือผู้ที่เปรียบเสมือนทูต ตัวแทนแสดงตัวตนอย่างเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ
ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจแบรนด์สินค้านั้นๆ อย่างลึกซึ้ง ทำความคุ้นเคย พร้อมทั้งนำสินค้าไปโปรโมตในการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถส่งต่อข้อมูลไปยังผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง
มีระยะเวลาในการทำงานกับแบรนด์สินค้าที่ยาวนานกว่า Presenter
ผู้ที่ถูกเลือกมารับบทบาทนี้จะสามารถสะท้อนตัวตนของแบรนด์ได้ชัดเจน มองเห็นแล้วรู้เลยว่าใช่
บางแบรนด์มักเลือกให้ “เจ้าของแบรนด์สินค้า” มารับบทบาทนี้เนื่องจากรู้จักสินค้าดีที่สุด เสริมภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ แต่จะได้รับการจดจำยากกว่านักแสดง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงนั่นเอง
Presenter (พรีเซ็นเตอร์)
ตัวแทนของแบรนด์สินค้าที่สร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคผ่านตัวบุคคลที่มีชื่อเสียง
ระยะเวลาในการจ้างงานจะน้อย และสั้นกว่า Brand Ambassador สามาถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
มักพบเห็นได้ตามสื่อโฆษณาต่างๆ โทรทัศน์ บิลบอร์ด รายการ รวมทั้งทำกิจกรรมเพื่อโปรโมตแบรนด์สินค้านั้นๆ
เน้นเลือกจากบุคคลที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ ณ ขณะนั้น หรืออยู่ในกระแสนั่นเอง
ปัจจัยสำคัญที่แบรนด์สินค้าใช้เพื่อเลือก Brand Ambassador และ Presenter มารับบทบาทเพื่อเสริมการจดจำ แสดงถึงเอกลักษณ์แบรนด์ได้อย่างชัดเจน มีดังนี้
บุคคลนั้นควรมีภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นแบรนด์ได้ดี และไม่มีประวัติใดๆ ในด้านลบ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าได้
ยิ่งอินกับสินค้า หรือมีความคุ้นเคยอยู่แล้วยิ่งดี เป็นอีกปัจจัยสำคัญเพราะบุคคลนั้นจะรู้ข้อมูล มีประสบการณ์ร่วม และถ่ายทอดออกไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่ได้รับบทบาทนี้กับเเบรนด์สินค้าที่ใกล้เคียงกัน เพราะอาจจะทำให้การรับรู้ของผู้บริโภคเกิดความสับสนได้
มีฐานแฟนคลับ หรือกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบและติดตามบุคคลนั้นเป็นจำนวนมาก จะช่วยเพิ่มการรับรู้ได้เยอะขึ้น ที่สำคัญช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี
รู้แบบนี้แล้วคงจะมองเห็นถึงความต่างของ Brand Ambassador และ Presenter ได้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ถึงแม้ทั้งสองคำนิยามจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นบทบาทที่ช่วยสร้างการจดจำ สะท้อนตัวตนของแบรนด์สินค้านั้นๆ ฉะนั้นแล้วหากจะเลือกพิจารณาใครสักคนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่พูดถึงในกระแสอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ต้องมองภาพรวมความเหมาะสม และอีกหลายปัจจัยประกอบกันด้วย เพราะเป็นบทบาทที่เป็นหน้าตาขององค์กรเลยทีเดียว
댓글